วันพฤหัสบดีที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560

The Slight Edge : Turning Simple Disciplines into Massive Success&and Happiness (ภาค 2)



Author : Jeff Olson
Published : Oct 31, 2013

หนังสือเล่มนี้มีสองภาค ดิฉัน post ภาคที่หนึ่งไปแล้ว (เชิญกลับไปอ่านที่ Post แรกได้ค่ะ)

Part One : The Slight Edge
Chapter 1 : The Slight Edge Philosophy
Chapter 2 : The Secret of Easy Things
Chapter 3 : Is time on Your Side?
Chapter 4 : You Have to Start with a Penny
Chapter 5 : The Quantum Leap Myth
Chapter 6 : The 7 Slight Edge Principles
Chapter 7 : Two Life Parts

Part Two : Mastering Your Life
Chapter 8 : Mastering the Slight Edge
Chapter 9 : Faces of the Slight Edge
Chapter 10 : Invest in Yourself
Chapter 11 : Turning Your Dreams into Reality
Chapter 12 : Living The Slight Edge

Chapter 13 : Where to Go from Here


เรามาต่อภาคที่ 2 กันเลยนะคะ หลังจากที่เราเข้าใจปรัชญาของ Slight Edge กันแล้วว่ามันคือ การตัดสินใจลงมือทำสิ่งเล็กๆที่ส่งผลกระทบในทางบวกกับชีวิต และทำมันอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะเวลานานพอจนเห็นผลลัพธ์ ก่อนไปถึงภาค 2 เรามาลองดูหลักการ 7 ประการ ที่จะช่วยทำให้คุณสามารถทำสิ่งเล็กๆที่มีผลทางบวกต่อชีวิตได้นานเพียงพอที่จะเห็นผลลัพธ์ของปรัชญา Slight Edge กันค่ะ

หลักการ 7 ประการของ Slight Edge

1. ปรากฎตัว (Show Up) มีพันธะสัญญาที่จะปรากฎตัวเพื่อทำสิ่งเล็กๆนั้น เพียงแค่คุณปรากฎตัว ไม่หลีกหนีไปไหน คุณก็ชนะไปแล้วครึ่งหนึ่ง ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับทักษะ ความรู้ คุณค่าเชิงบวกที่ทำให้คุณอยากทำมันจริงๆ (Driven Value)
2. มีความสม่ำเสมอ (Be Consistent) นอกจากการปรากฎตัวแล้ว ความสม่ำเสมอยังเป็นคู่หูที่ทำให้เกิด พลังคูณสองขึ้นอีกด้วย การลงมือทำอย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มทักษะให้กับเรา ส่งผลให้เกิดความสำเสร็จได้เร็วขึ้น Jeff ยกนิทานอิสปเรื่อง กระต่ายกับเต่า ว่าที่เต่าชนะนั้นไม่ใช่เต่าคลานเร็วกว่ากระต่าย แต่เป็นเพราะเต่าคลาน "สม่ำเสมอ" กว่ากระต่าย ซึ่งวิ่งแล้วหยุดพัก แล้ววิ่งต่อ แล้วก็หยุดพักต่างหาก
3. มีทัศนคติที่ถูกต้อง (Have Good Attitude) John C. Maxwell กล่าวว่า ถ้าทุกๆอย่างเท่าๆกัน ทัศนคติที่คุณมองชีวิตด้านบวก จะทำให้คุณประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่น ความสุขและการมองโลกในแง่ดีเป็นเชื้อเพลิงที่ดีมากต่อความสำเร็จ  มีความสุขแล้วจึงสำเร็จ ไม่ใช่ต้องสำเร็จก่อนแล้วจึงจะมีความสุข อย่างที่คนส่วนใหญ่คิด
4. มีพันธะสัญญากับการลงมือทำได้เป็นระยะเวลานาน (Be Committed for a long period of time) หลักการนี้เป็นข้อที่ยากที่สุด ไม่มีทางลัดของความสำเร็จ ดังนั้น คุณค่าของการประสบความสำเร็จ Driven Value นั้นต้องโดนใจคุณจริงๆ คุณจึงจะมีพันธะสัญญาอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน เช่นถ้าคุณต้องการลดน้ำหนัก เพียงเพื่อจะได้ใส่ชุดสวยๆได้ บางครั้งอาจจะไม่ได้ทำให้คุณมีพันธะสัญญาอยู่ได้นานเท่าคุณอยากมีสุขภาพแข็งแรง เพื่ออยู่ดูลูกเรียนจบ ได้อยู่ในงานแต่งงาน ได้อุ้มหลาน
5. มีศรัทธาและความปรารถนาสิ่งนั้นอย่างรุนแรง (Have Faith and Burning Desire) Napoleon Hill กล่าวไว้ในหนังสือ Think and Grow Rich ว่า ความปรารถนาอย่างแรงกล้าเท่านั้น ที่จะฉุดคุณให้ลุกขึ้นแต่เช้ามืดและเข้านอนดึกดื่น และทำให้คุณจะเดินหน้าต่อแม้จะมีอุปสรรคขนาดใดก็ตาม
6. ยินดีที่จะจ่ายราคา (Be Willing to Pay the Price) Vince Lombardi กล่าวว่า ผู้นำไม่ได้เป็นตั้งแต่เกิด แต่เป็นจากการสร้างผ่านการลงมือทำงานหนัก นั่นคือราคาที่คนสำเร็จยินดีจ่าย ในทางตรงกันข้าม มันก็มีราคาที่ผู้ไม่สำเร็จจำเป็นต้องจ่าย จากการที่ละเลยไม่เลือกทำสิ่งที่ควรทำเช่นกัน และราคานั้นมันแพงแบบแสนโหดร้าย

7. ฝึกฝนที่จะรักษาคำพูดในการใช้ปรัชญา Slight Edge กับชีวิตตัวเองเสมอ แม้ในเวลาที่ไม่มีใครรู้เห็น (Practice Slight Edge Integrity) ดิฉันได้เรียนรู้จากการเข้าสัมมนาชีวิตครั้งสำคัญในอดีตว่า แค่คุณเป็นคำพูดที่คุณได้ให้ไว้ไม่ว่าจะกับตัวเองหรือกับใครเท่านั้น ความเป็นไปได้ใดๆที่คุณต้องการให้มันเกิดกับชีวิตคุณ มันเกิดขึ้นได้หมด จนเมื่อมีโอกาสได้อ่าน The Slight Edge จึงเข้าใจว่า มันคือการใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญานี้นี่เอง 

เจ็ดหลักการนี้ละค่ะ ที่จะช่วยให้คุณยังคงดำเนินชีวิตอยู่บนปรัชญา Slight Edge 

ภาคสอง

1. Jeff บอกว่า ผู้คนมักเข้าใจผิดว่าการเป็นปรมาจารย์ในด้านใดด้านหนึ่ง (Mastery) ของชีวิต จะได้รับการยกย่องยอมรับตรงตอนจบของเส้นทางนั้น ไม่ใช่ค่ะ มันคือสภาวะของจิตใจตั้งแต่วันที่คุณเริ่มต้นเดินบนเส้นทาง เป็นสภาวะจิตใจที่คุณพร้อมจะจุ่มตัวเองอยู่ในขบวนการในแต่ละวัน โดยไม่หยุดทำมัน เรียนรู้ความก้าวหน้าในแต่ละวันๆ นานพอโดยไม่สงสัย หรือลังเลใดๆ 

เขายกตัวอย่างตอนที่ทุกคนเป็นทารก แล้วก็เริ่มคลาน จากนั้นก็เริ่มหัดเดิน เด็กไม่เคยยอมแพ้เลิกหัดเดินนะ ถึงแม้เขาล้มซะมากกว่าที่จะเดินได้ แต่พวกเขาก็ไม่ล้มเลิกการหัดเดินแล้วบอกกับตัวเองว่า "คลานกันเถอะ" พวกเขามีสภาวะจิตใจที่พร้อมจะจุ่มตัวเองอยู่กับขบวนการเรียนรู้ในการเดินอย่างแน่วแน่ เห็นความล้มเหลวในช่วงแรกมากกว่าก้าวหน้า แต่พวกเขาก็ดำรงสภาวะจิตนั้นไว้จนเดินได้อย่างมั่นคง เป็นปรมาจารย์ในการเดินสำหรับชีวิตตัวเอง จากเรื่องนี้

Jeff จึงสรุปว่า มนุษย์ทุกคนถูกออกแบบให้เป็นปรมาจารย์ในทุกพื้นที่ชีวิตอยู่แล้ว และเราก็เป็นกับชีวิตเราได้ง่ายๆ โดยกำหนดสภาวะจิตของเราให้เหมือนกับตอนเราหัดเดิน อย่าล้มเลิก เท่านั้นเองค่ะ ข่าวดีจริงๆนะคะ

2. เป้าหมายที่คุณตั้งไว้ในทุกพื้นที่ชีวิต (จุด B) กับ จุดที่คุณอยู่ ณ ปัจจุบัน (จุด A) มันมีระยะห่างระหว่างกันอยู่ ระยะห่างที่ว่านี้ จะใกล้หรือไกล ก็อยู่ที่เป้าหมายที่คุณตั้ง แรงตึงเครียดเกิดจากการพยายามที่จะขยับจุดจาก A ไป B นั่นเอง ขนาดของระยะห่าง (แรงตึงเครียด การแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ) จะเป็นตัวกำหนดขนาดชีวิตของคนๆนั้น ยิ่งระยะห่างมาก ชีวิตก็ยิ่งใหญ่มากเท่านั้น คนสำเร็จต่างจากคนอื่นตรงที่ เขาลงมือทำงานกับระยะห่างนั้น แทนที่จะต่อต้่านไม่ลงมือทำ โดยเลือกใช้ปรัชญาของ Slight Edge คือ ขยับชีวิตจากจุด A ไปที่จุด B ทีละน้อยๆแต่สม่ำเสมอนานพอจนเห็นผล นี่ละค่ะคือหัวใจของการเป็นปรมาจารย์ของชีวิตตัวเอง

3. โฉมหน้าของ Slight Edge (Face of the Slight Edge) หนังสือสรุปโฉมหน้าสำคัญๆที่จะช่วยให้เรายังคงดำเนินชีวิตบนปรัชญา Slight Edge ได้นานพอจนสำเร็จไว้ดังนี้ค่ะ

3.1 เทียมบังเหียนพลังของแรงส่งไว้เสมอ (Harness the Power of Momentum) นิทานเรื่องกระต่ายกับเต่า บอกเราว่า ความสม่ำเสมอชนะความเร็ว(เต่ารักษาแรงส่ง คือไม่เคยหยุดเดินเลยจนเข้าเส้นชัย และเดินด้วยความเร็วที่เหมาะกับตัวเอง) อันนี้โดนใจดิฉันมาก เพราะตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ดิฉันเริ่มต้นใช้ปรัชญา Slight Edge กับพื้นที่ชีวิตด้านสุขภาพ โดยติดเครือ่งนับก้าวแล้วเดินวันละประมาณ 6,000 ก้าว(เคยเดิน 10,000 ก้าวแล้วพบว่า ไม่ใช่ Momentum ของตัวเอง) ติดต่อกันมา 497 วัน และก็จะเดินต่อไปเรื่อยๆ น้ำหนักลดไปเกือบ 10 กิโลกรัม เอวเล็กลง 4 นิ้ว ดิฉันเทียมบังเหียนแรงส่งไว้เสมอค่ะ

3.2 กำหนดความเร็วเอง (Go Slow or Go Fast) ฟังเสียงร่างกายและจิตใจคุณว่าคุณเหมาะสมกับความเร็วระดับไหนในการไปถึงเป้าหมาย เพราะมันจะทำให้คุณอยู่กับการลื่นไหลของปรัชญา Slight Edge ได้นาน

3.3 เทียมบังเหียนพลังของการสะสาง (Harness the Power of Completion) เราจะรักษาแรงส่งไว้ได้ ต้องไม่มีอะไรมาฉุดรั้ง ดังนั้นการสะสางสิ่งที่เราผัดผ่อนไว้ ไม่ยอมจัดการมัน เช่น ห้องที่รกรุงรัง ภาษีที่ยังค้างจ่าย บัตรเครดิตที่ยังค้างจ่าย เป็นสิ่งที่ต้องเริ่มทำ อย่าผัดผ่อน วางแผนจัดการกับมันไปทีละน้อยๆสม่ำเสมอเช่นกัน เพื่อเสริมพลังของแรงส่ง

3.4 เทียมบังเหียนพลังของอุปนิสัย (Harness the Power of Habit) การสร้างอุปนิสัยทุกอย่างนั้น มาจากปรัชญา Slight Edge ทั้งสิ้น "การลงมือทำสิ่งเล็กๆที่ส่งผลในทางบวกต่อชีวิตอย่างสม่ำเสมอ ยาวนานพอที่จะเห็นผลลัพธ์" นั่นคือการสร้างอุปนิสัยแห่งความสำเร็จสำเร็จขึ้นมาในตัวคุณ

3.5 เทียมบังเหียนพลังแห่งการสะท้อน (Harness the Power of Reflection) แทนที่คุณจะเขียนบันทึกว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน ลองเปลี่ยนเป็นเขียนสะท้อนเมื่อสิ้นสุดแต่ละวันว่า คุณได้ลงมือทำอะไรไปบ้างที่ทำให้คุณขยับจากจุด A ไปจุด B (เป้าหมาย) ข้อนี้ดิฉันเริ่มต้นทำมาสักพัก ดีมากจริงๆค่ะ มันเป็นเหมือน GPS ค่อยปรับนาวาชีวิตเราให้กลับไปสู่เส้นทางแห่งความสำเร็จ

3.6 เทียมบังเหียนพลังแห่งการเฉลิมฉลอง (Harness the Power of Celebration) เมื่อสิ้นสุดแต่ละวัน เราได้สะท้อนตัวเองว่าเราได้ทำอะไรบ้างที่ทำให้ขยับเข้าใกล้ความสำเร็จ เราก็ควรเฉลิมฉลองเพื่อให้รางวัลกับการเลือกทำสิ่งดีๆให้ชีวิต การให้รางวัลจะทำให้เราเกิดกำลังใจที่จะขยับต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะสำเร็จ

4. ลงทุนกับตัวเองค่ะ (Invest in Yourself) อับบราฮัม ลินคอล์น กล่าวว่า "ถ้าข้าพเจ้ามีเวลา 6 ชั่วโมงในการตัดฟืน ข้าพเจ้าจะใช้เวลา 4 ชั่วโมงในการลับขวาน" การลับขวานหมายถึงการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต เพื่อทำให้การลงมือทำสิ่งเล็กๆที่ส่งผลบวกต่อชีวิต ประสบความสำเร็จได้ง่ายขึ้น เรียนรู้ผ่านการศึกษา การลงมือทำ แล้วก็เอาไปลงมือทำ ปรับแต่ง กลับไปเรียนเพิ่มใหม่ เพื่อนำเอามาปรับแต่งใหม่ จนกว่าจะสำเร็จ นอกจากนั้นยังมีการเรียนรู้ที่สำคัญคือ เรียนรู้โดยผ่านการศึกษาคนหรือชุมชนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องนั้น (Learning through modeling) 

5. สี่ขั้นตอนในการตั้งเป้าหมาย
ขั้นตอนที่ 1 : เขียนมันออกมาอย่าง SMART คือ ชัดเจน เฉพาะเจาะจง วัดความสำเร็จได้ เป็นจริงได้ มีเวลากำกับ
ขั้นตอนที่ 2 : วางแผนในการเริ่มต้นทำ (Your jumping-off point) ไม่จำเป็นต้องมีแผนที่สมบูรณ์แบบทั้งหมดซะก่อน แล้วถึงจะลงมือทำ Jeff ให้ความสำคัญกับแผนเริ่มต้นนี้มาก เพราะเขาเชื่อว่ามันคือการเทียมบังเหียนพลังของแรงส่ง ที่เขาพูดถึงในข้อ 3.1
ขั้นตอนที่ 3 : รู้ดีว่ามีราคาที่คุณต้องยอมจ่าย (Know and pay the price) เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั้น แล้วลงมือทำมันซะ เช่น ถ้าอยากสุขภาพดี น้ำหนักไม่เกิน ก็มีราคาที่ต้องจ่ายคือ รับประทานอาหารแต่พอดี ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ให้จำไว้ว่า ราคาที่คุณยอมจ่ายนั้น มันถูกกว่าราคาที่คุณไม่ยอมจ่ายมากนัก ลองนึกถึงการที่คุณกินๆๆๆจนน้ำหนักเกินมาก ไม่ออกกำลังกายใดๆเลย ราคาที่คุณต้องจ่ายอาจคือค่ารักษาที่เกิดจากโรค เบาหวาน มะเร็ง เข่าเสื่อม หัวใจ ซึ่งมากมายกว่าราคาที่คุณยอมจ่ายซะแต่แรกมากนัก
ขั้นตอนที่ 4 : จดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลา (Look at it every day) เพราะคุณต้องต่อสู้กับพลังแห่งแรงโน้มถ่วงที่จะดึงคุณกลับไปยังจุดที่คุณมีชีวิตอยู่แบบที่คุณไม่ต้องการ (The Force of Mediocrity) ดังนั้นคุณจึงต้องรักษาพลังทั้ง 6 แบบในบทสรุปข้อ 3 ไว้ให้ดีที่สุด โดยการจดจ่ออยู่กับมันตลอดเวลา

6. สุดท้าย มาดูกันว่ามีพื้นที่ชีวิตในด้านใดบ้าง ที่คุณควรลงมือสำรวจว่ามันมีความหมายอะไรกับคุณ และคุณมีเป้าหมายที่จะประยุกต์ปรัชญา Slight Edge ไปใช้อย่างไรบ้าง โดยการลงมือทำสี่ขั้นตอนจากข้อที่ 5 ที่ดิฉันเขียนสรุปไว้ให้แล้ว Jeff แยกเป็นพื้นที่ชีวิต 5 ด้านดังนี้ค่ะ
ด้านที่ 1 : สุขภาพของคุณ
ด้านที่ 2 : การพัฒนาตัวเอง
ด้านที่ 3 : ความสัมพันธ์
ด้านที่ 4 : การเงิน
ด้านที่ 5 : ชีวิตโดยรวม โดยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ฉันต้องการให้ชีวิตของฉันมีความหมายต่อโลกอย่างไร

มีวินัยในการลงมือทำสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ ที่ส่งผลบวกต่อเป้าหมายชีวิตทั้ง 5 ด้าน อย่างสม่ำเสมอและนานพอ สร้างนิสัยในการทบทวนสิ่งที่ได้ทำในแต่ละวันว่า ทำให้ชีวิตแต่ละด้านขยับเข้าสู่เป้าหมายหรือไม่ ใช้เวลาอยู่กับผู้คนหรือชุมชนที่ประสบความสำเร็จในเรื่องที่เป็นเป้าหมายเดียวกับคุณ เพื่อเรียนรู้นำมาปรับใช้กับเป้าหมาย ใช้หลักการ 7 ประการ เทียมบังเหียนพลัง 6 ประการ ของปรัชญา Slight Edge ที่ดิฉันได้เขียนสรุปไว้ให้จากหนังสือเล่มนี้ ในการทำให้ชีวิตคุณประสบความสำเร็จนะคะ

ด้วยความปรารถนาดี
ReadmoreLivemore
อ่านเยอะ ชีวิตใหญ่




วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

The Slight Edge : Turning Simple Disciplines Into Massive Success&Happiness

Author : Jeff Olson
Published : October 31, 2013

"สิ่งที่เราเป็น ทำ และมี ในทุกพื้นที่ชีวิตเวลานี้ ไม่ว่าเราจะพอใจหรือไม่ คือผลลัพธ์ของสิ่งเล็กๆที่เราตัดสินใจเลือก ทำ หรือ ไม่ทำ อย่างสม่ำเสมอในอดีต" ประโยคนี้อธิบายได้ด้วยตัวของมันเอง สิ่งที่น่าสนใจคือ ดิฉันคิดว่าทุกคนรู้ แต่เพราะอะไร คน 95% บนโลกนี้ ในอดีตจึงเลือกทำสิ่งเล็กๆ อย่างสม่ำเสมอ ที่ไม่ได้ส่งผลลัพธ์ในทางบวกกับชีวิตในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้มีคำตอบค่ะ

หนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2548 แล้วก็ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย ฉบับที่ดิฉันกำลังสรุปเนื้อหาอยู่นี้เป็นฉบับปรับปรุงครั้งที่ 5 ซึ่งจากการเข้าไปดูใน www.amazon.com หนังสือเล่มนี้มีผู้คนจากทั่วโลกเข้าไป review เพื่อ rate หนังสือเล่มนี้ 1,234 คน และได้คะแนนจาการ review 4.8 เต็ม 5 ซึ่งไม่ค่อยจะพบบ่อยนัก ดิฉันสั่งหนังสือเล่มนี้มาอ่านเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2556 แล้วก็อยากให้มีคนแปล แต่จนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีสำนักพิมพ์ไหน ซื้อลิขสิทธิ์มาแปลเลย ก็เลยเลือกมาสรุปให้เป็นเล่มแรกของเพจ ReadmoreLivemore อ่านเยอะ ชีวิตใหญ่ มีอะไรในหนังสือเล่มนี้บ้าง 

Part One : The Slight Edge
Chapter 1 : The Slight Edge Philosophy
Chapter 2 : The Secret of Easy Things
Chapter 3 : Is time on Your Side?
Chapter 4 : You Have to Start with a Penny
Chapter 5 : The Quantum Leap Myth
Chapter 6 : The 7 Slight Edge Principles
Chapter 7 : Two Life Parts

Part Two : Mastering Your Life
Chapter 8 : Mastering the Slight Edge
Chapter 9 : Faces of the Slight Edge
Chapter 10 : Invest in Yourself
Chapter 11 : Turning Your Dreams into Reality
Chapter 12 : Living The Slight Edge
Chapter 13 : Where to Go from Here

ดิฉันขอสรุปเนื้อหาที่สำคัญของหนังสือเล่มนี้ดังต่อไปนี้

Part One

1. หนังสือเริ่มต้นด้วยนิทานเรื่องเศรษฐีซึงกำลังป่วยใกล้เสียชีวิต เขามีลูกชาย 2 คน เพื่อการจากไปอย่างสงบสุข เศรษฐีต้องการให้ลูกได้ของขวัญ 3 อย่าง โดยถามลูกดังนี้
ของขวัญชิ้นที่ 1 : ง่ายในการมอบให้ และ ไม่มีวันหมด (Easy to give and never runs out)
คำตอบของลูกชาย : ความรัก (Love)
ของขวัญชิ้นที่ 2 : ง่ายในการมอบให้ แต่ ไม่ได้ง่ายเสมอไปที่จะได้มา (Easy to give but not always easy to have)
คำตอบของลูกชาย : เงิน (Money)
ของขวัญชิ้นที่ 3 : ไม่สามารถให้ได้ แต่ ต้องเรียนรู้ที่จะได้มันมาเอง (Impossible to give but can only be gained)
คำตอบของลูกชาย : ????
เศรษฐีจึงตั้งใจจะให้ลูกชายทั้งสองได้เรียนรู้คำตอบผ่านโจทย์ชีวิตที่จะมอบให้ก่อนตาย โดยให้ลูกทั้งสองคนตัดสินใจว่า จะเลือกรับมรดกที่พ่อจะให้ครั้งเดียวเป็นจำนวน 35 ล้านบาท หรือ จะเลือกรับเงินวันละ 1 บาททุกวัน เป็นเวลา 1 เดือน โดยที่แต่ละวันเศรษฐีจะเพิ่มเงินให้อีกเท่าตัวของจำนวนเงินที่สะสมไว้ได้ในวันนั้น ลูกชายคนโตเลือกทางเลือกแรก ในขณะที่ลูกชายคนเล็กเลือกทางเลือกที่สอง ก่อนตายเศรษฐีได้เฉลยให้ลูกทั้งสองได้ทราบถึงคำตอบของขวัญชิ้นที่ 3 ซึ่งก็คือ "ปัญญา" (Wisdom) ลูกชายคนเล็กเลือกด้วยปัญญา เพราะทราบถึงพลังทวีคูณว่าภายในหนึ่งเดือน เขาจะได้รับเงินมากกว่าหนึ่งพันล้านบาท ซึ่งเป็นที่มาของ Slight Edge Philosophy ที่จะกล่าวต่อไป

2. Slight Edge Philosophy : 

The Longer you make positive choices every day, the more                                                      success will accumulate in front of you. 
                                             
Doing things that are easy. Simple little disciplines that, done                                                  consistently over time, will add up to the very biggest                                                              accomplishment.

Jeff กล่าวว่า ในปัจจุบัน เราไปเข้าอบรมอะไรต่างๆมากมาย เรามีข้อมูล "How to" จากกูรูท่วมท้นเกินพอที่จะประสบความสำเร็จ และเราก็เชื่อใน Quantum Leap Myth กันซะเหลือเกิน ว่ามันมีวิธีที่ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน เราอยู่ในโลกที่ทุกอย่างต้อง instant เดี๋ยวนี้เท่านั้น ถ้าเราลองออกกำลังกายด้วยวิธีนี้ไปหนึ่งเดือนแล้วไม่ได้ผล เราก็จะเลิกทำมันแล้วไปหา How to อื่น ดังนั้นมันจึงทำให้เรามองไม่เห็น Slight Edge (รอยเหลื่อมเล็กๆ) ได้ง่ายเลย  
Jeff บอกว่า สำหรับเขาแล้วนั้น "How to" ไม่ใช่ประเด็น แต่เป็น "ปรัชญา" เบื้องหลัง "How to" ของเราต่างหาก ที่ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่เราคาดหวัง (ดูรูปที่ 1) เพราะปรัชญาของคุณ จะสร้างทัศนคติ การกระทำ ผลลัพธ์ ซึ่งจะสร้างชีวิตของคุณ Jeff ไม่เชื่อเรื่องโชคชะตา ความฉลาด ทักษะ พรสวรรค์ใดๆ เขาเชื่อว่าคนสำเร็จเข้าใจ The Slight Edge Philosophy

ปรัชญาที่ว่าคือ การกระทำเล็กๆในเชิงบวกต่อเป้าหมายชีวิตอย่างสม่ำเสมอทุกวันต่างหาก ที่นำชีวิตคุณไปสู่ความสำเร็จ แม้ในวันแรกๆที่คุณเลือกทำ มันจะไม่ได้สร้างผลลัพธ์อะไรที่ยิ่งใหญ่อย่างมีนัยสำคัญใดๆเลย ในบางการกระทำอาจใช้เวลาเป็นสิบๆปี กว่าจะเห็นผลลัพธ์ แต่เพราะคุณเข้าใจปรัชญาของ Slight Edge คุณจึงไม่หวั่นไหวใดๆเลย เพราะคุณรู้ว่า มันกำลังทำงานของมันอยู่ตลอดเวลา นี่คือปรัชญา คือทัศนคติของคุณ เบื้องหลังการลงมือทำเพื่อความสำเร็จ

ยกตัวอย่าง เช่นการเลือกออกกำลังกายวันละ 15 นาที อาทิตย์ละ 3 วัน ไปตลอดชีวิต การเลือกกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพทุกวัน การอ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จวันละ 10 หน้าทุกวัน การออมเงิน 10%ของรายได้เป็นประจำทุกเดือน เป็นต้น 

3. Jeff ถามกลับว่า ถ้้ามันง่ายๆแบบนี้ (ซึ่งมันก็ง่ายจริงๆ อ่านหนังสือทุกวันๆละ 10 หน้า ไม่ยากนะ) แล้วทำไมจึงมีคนแค่ 5% บนโลกนี้ที่ประสบความสำเร็จ โอ้.....ตรงนี้โดนใจมากเลย ตั้งใจอ่านดีๆนะคะ Jeff บอกว่า "Every positive action that is easy to do, is also easy NOT TO DO" ขอเน้นตรง easy not to do ทุกๆการกระทำที่ส่งผลบวกต่อชีวิตที่ง่ายในการลงมือทำ มันก็ง่ายที่จะไม่ลงมือทำเช่นกัน เพราะอะไรมันถึงง่ายที่จะไม่ลงมือทำ ก็เพราะว่า ถ้าคุณไม่ทำมันในวันนี้หรือทำไม่สม่ำเสมอไปสักเดือน มันไม่ได้ฆ่าคุณตายในวันรุ่งขึ้น หรือในอีกหนึ่งเดือนถัดมา ลองนึกถึงคุณเลือกที่จะสูบบุหรี่สม่ำเสมอ ตอนที่คุณสูบวันแรก วันถัดมา หรือแม้ในอีกหกเดือนถัดมา มันก็ไม่ได้ทำให้ปอดคุณเป็นมะเร็ง ดังนั้นคุณจึงเลือกความสุขที่จะได้สูบมวนต่อไป มากกว่าที่คุณจะเลือกเลิกสูบบุหรี่ นอกจากนั้น การเลือกที่จะไม่ทำมันก่อให้เกิดความสุข ความสบาย มากกว่าที่จะเลือกทำมัน นั่นเป็นเพราะการเลือกทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ทำให้คุณต้องใช้พลังงานเพื่อที่จะออกมานอก Comfort zone สมองพยายามที่จะอนุรักษ์พลังงานไว้ ซึงนั่นก็คือทำอะไรที่คุ้นชิน คาดเดาได้ ทำแล้วสบายใจมากกว่า ดังนั้นคนที่ประสบความสำเร็จไม่ใช่คนที่ไม่มี Comfort zone ไม่ใช่คนที่มี Will Power มากกว่าคนอื่น (Jeff ไม่เชือเรื่อง Will Power แต่เชื่อ Won't Power) แต่มี Must do Power Awareness การตระหนักรู้ในสิ่งที่ต้องทำ มากกว่าคนอื่น Jeff บอกว่า คนสำเร็จมีปรัชญาและการตระหนักรู้เรื่อง Slight Edge อยู่เบื้องหลังทุกคน

4. รูปที่ 2 เป็นรูปที่สรุปเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ทั้งหมด แกนกลางคือเนื้อหาของรูปที่ 1 เส้นสองเส้นที่เริ่มต้นออกมาจากจุดเดียวกัน เส้นด้านบนใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญา Slight Edge คือ เป็นกลุ่มคนที่มีการตระหนักรู้ มีวินัยในการลงมือทำเรื่องเล็กๆง่ายๆที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในทางบวก และทำสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนาน (Easy to do, simple disciplines made consistently over time) ส่วนเส้นด้านล่างไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญา Slight Edge คือลงมือทำเรื่องง่ายๆเล็กๆแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตในทางลบ และทำสม่ำเสมอเป็นระยะเวลายาวนานเช่นกัน คุณจะเห็นว่า ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาจกินเวลานานเป็นสิบๆปี เส้นสองเส้นนี้ไม่ได้มีความต่างให้เราสังเกตเห็นชีวิตตัวเองได้ชัด (ลองนึกถึงมุมแหลมที่ประมาณ 10 องศา กว่าจะเห็นความป้านออก แกน x ต้องยาวมากเลย) นี่คือสิ่งที่ Jeff เรียกว่า Is time on your side? คือคุณเห็นผลทวีคูณของเวลาในชีวิตคุณไหม ว่าถ้าคุณไม่ได้ลงมือทำสิ่งเล็กๆที่ส่งผลกระทบในทางบวกกับชีวิตคุณ against เวลาที่ล่วงเลยไป ในระยะท้ายๆของชีวิต คุณจะได้เห็น Slight Edge Effect ที่มหาศาลอย่างที่คุณไม่คาดคิดเลย 
กลับมาที่รูปที่ 1 ปรัชญาก่อให้เกิดทัศนคติ Jeff บอกว่า มีทัศนคติอยู่ 2 แบบ (รูปที่ 2 - Slight Edge Life Path) 
แบบที่ 1 คือ Value Driven ซึ่งพบในคนที่ใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญา Slight Edge คนกลุ่มนี้ตั้งคำถามตัวเองว่า What can I do to help you?, I'll work harder, and then I expect you'll pay me more ฉันจะทำอะไรเพื่อช่วยเหลือคุณได้บ้าง ฉันจะทำงานให้หนักขึ้นก่อนที่จะคาดหวังว่าคุณจะจ่ายค่าแรงฉันเพิ่ม ในขณะที่ 
แบบที่ 2 คือ Entitled ซึ่งพบในคนที่ไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่บนปรัชญา Slight Edge เขาจะตั้งคำถามว่า What have you done for me lately?, Pay me more and then I may be work harder คุณทำอะไรให้ฉันบ้างเมื่อเร็วๆนี้ จ่ายค่าตัวฉันเพิ่มก่อนสิ แล้วฉันอาจจะทำงานให้หนักขึ้น

นอกจากนั้นแล้ว คนกลุ่ม Slight Edge จะเลือกที่จะมีความรับผิดชอบต่อชีวิตตัวเอง เมื่อมีเรื่องที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง เขาจะกลับมาดูที่ตัวเอง รับผิดชอบที่จะเปลียนแปลงสิ่งที่ต้องเปลี่ยน เริ่มมีวินัยกับสิ่งที่ต้องมี เขายอมรับการที่จะต้องอยู่กับความรู้สึกอึดอัด ไม่คุ้นชินในการที่ต้องเปลี่ยนแปลงตัวเองในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะนานมากก็ได้ เพราะเขาเชื่อและตระหนักรู้ในปรัชญา Slight Edge ว่าสิ่งที่อึดอัดในช่วงแรก จะทำให้เขาสบายในภายหลัง ในขณะที่คนกลุ่ม Non Slight Edge เลือกที่จะโทษผู้อื่น โทษสถานการณ์ หรือเพิกเฉยต่อสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อให้ชีวิตตัวเองบรรลุเป้าหมาย เขาพอใจที่จะเลือกความสบายใจ อยู่ใน comfort zone ไม่ต้องการเปลี่ยนแปลงใดๆ เพราะเขาไม่ตระหนักรู้ถึงพลังของ Slight Edge ว่ามันจะก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบมหาศาลอย่างไรต่อชีวิตเขา

เอาละค่ะ ดิฉันคิดว่าสรุปเนื้อหาสำคัญ Part One ของหนังสือเล่มนี้ไว้ได้แล้ว พรุ่งนี้จะมาต่อ Part Two นะคะ ขอให้ The Slight Edge Philosophy เริ่มต้นเข้าไปอยู่ในชีวิตคุณ ที่ด้านในด้านหนึ่งของชีวิต ลองเริ่มต้นทำสิ่งเล็กๆที่ง่ายๆ แต่ตัดสินใจที่จะทำมันอย่างสม่ำเสมอดูนะคะ

มีอะไรที่อยากจะเสนอแนะ เชิญได้เต็มที่เลยนะคะ ดิฉันตั้งใจอย่างสุดๆที่จะทำให้เพจนี้เป็นส่วนที่จะช่วยขยายชีวิตคุณให้ยิ่งใหญ่ในทุกมิติค่ะ

ด้วยความปรารถนาดี
ReadmoreLivemore
อ่านเยอะ ชีวิตใหญ่

รูปที่ 1
รูปที่ 2